วันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

Basic Skill กับการเรียนดำน้ำลึก ภาคสระ #PorpoyzScuba

ในที่สุดหลังจากวอแวมานานหลายปี ในปี 2017 นี้ก็ได้โอกาสลง เรียน Scuba ซะที 555
เพราะดูสารคดีและภาพถ่ายใต้น้ำมาตั้งเยอะ แล้วก็เป็นคนชอบเที่ยวตะลอนไปนู่นนี่เอามากๆ
ส่วนตัวชอบว่ายน้ำอยู่แล้ว เลยอยากไปสัมผัสโลกใต้ท้องทะเลในระดับที่ลึกกว่าการดำน้ำตื้นดูบ้าง

เอาล่ะ! ปีนี้เลยถือโอกาสไปเดินชมงานมหกรรมธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำแห่งประเทศไทย 
หรือ Thailand Dive Expo 2017 (TDEX) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดมาเป็นปีที่14 แล้วล่ะ!


เราเลือกเรียนกับ Thai Dive Center เพราะเคยศึกษาข้อมูลมาทั้งราคาแล้วก็สถานที่เรียนดำน้ำ
ซึ่งที่นี่ใกล้บ้านเราสุด สระที่ใช้เรียนอยู่ตรงข้ามตึกจัสมิน แถวแจ้งวัฒนะ สะดวกสุดสำหรับเราแล้ว :)
ราคาค่าเรียนในงาน พิเศษกว่าปกติด้วยนะ เราได้มาในราคา 8500 บาท (เฉพาะในงาน/สอบที่แสมสาร)
พร้อม Voucher เป็นส่วนลดค่าอุปกรณ์ในทริปอีก 5,000 บาท ไว้ใช้ไปดำน้ำหลังจากเรียนจบ
ราคาดีแบบนี้ จัดสิ ไม่รออะไรแล้ว 555
 (มัดจำ 1,000 บาท ภายในงาน / ราคานี้ไม่รวมค่าที่พักกับค่าเดินทางไปสอบที่แสมสารนะ)

หลังจากที่มัดจำเรียบร้อยก็ลงวันเรียนกับครูได้เลย
โดยจะแบ่งออกเป็นเรียนในสระกับทฤษฎี 2 วันและสอบปฏิบัติในทะเลอีก 2 วัน
ไม่รอช้า อยากเรียนมาก จัดไปค่ะ เริ่ม!

สถานที่เรียนของเราอยู่ติดกับร้านอาหารเวียดนาม-ไทย มาดามอัน ในซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
มีที่จอดรถด้วยนะ หรือจะมารถประจำทางก็มี ลงปากซอยแล้วเดินเข้ามาไม่ไกลมาก

วันแรกที่มาถึงหาทางเข้าสระไม่เจอ 555
วนอยู่ซักพักก็เห็นทางเข้า ป้ายก็จะประมาณนี้ มันก็เห็นชัดเจนอยู่แหละ แต่นี่ก็หาไม่เจอ ><"

ห้องเรียนดำน้ำของ Thai Dive Center จะอยู่ด้านขวามือ บนชั้น 2 (ที่ไม่ใช่บันไดวน)
พอมาถึงก็เห็นครูติ๊ก(ผู้สอน) พร้อมพี่อิน กำลังเตรียมของและชุด สำหรับให้นักเรียนอย่างเราไว้ใช้เรียนกัน
วันแรกของเรา มาถึงก็ทานข้าวให้เรียบร้อย เริ่มเรียนตอน 8 โมงเช้า (เช้ามากกกกก!!)
หลังจากที่ได้บอกขนาดไซส์ของอุปกรณ์และลองสวมบนห้องเรียบร้อยแล้ว
พบความจริงว่า "เท้าเล็กมาก" ไซส์เล็กสุดของสากลก็ใส่ไม่ได้ ใส่แล้วหลวม เลยต้องพึ่งตัวช่วยอย่างถุงเท้าเข้ามาให้แน่นขึ้นจ้า 555

ภาพจากพี่อิน
หลังจากที่ครูแจกอุปกรณ์ตามขนาดไซส์ของทุกคนครบแล้ว ก็ได้เวลาลงไปข้างล่าง เรียนกันข้างสระแล้วล่ะ!
ครูติ๊กเริ่มต้นด้วยการพูดคุยสนุกสนานตามสไตล์ วันนี้มีนักเรียนมาเรียนด้วยกัน 4 คน
วิธีการสอนเริ่มต้นจากสอนวิธีการใส่ฟิน แล้วให้ลองใส่ว่ายน้ำกันดูก่อน 
(นักเรียนวันนี้ว่ายน้ำเป็นกันทุกคน)
**  สำหรับคนว่ายน้ำไม่เป็นไม่ต้องกลัวนะ มาเรียนกันได้ ขอแค่ไม่กลัวการลงน้ำก็พอ เพราะว่ามันง่ายกว่าที่คิดนะ ^^ **
------------------------------------------
ต่อกันที่ อุปกรณ์ ต่างๆ ได้แก่
หน้ากากหรือ Maskให้เราสามารถมองเห็นภาพใต้น้ำได้อย่างชัดเจนนั่นเอง
ท่อหายใจหรือ Snorkelใช้สำหรับหายใจเมื่ออยู่บนผิวน้ำโดยที่ยังสามารถก้มหน้ามองผิวน้ำได้
ชุด Buoyancy Control Device หรือ B.C.D. : เป็นแจ็คเก็ตเติมลมและระบายลมออกได้  
ใช้ในการปรับกำลังลอยตัวเมื่ออยู่ที่ระดับความลึกต่างๆ และช่วยในการลอยตัวที่ผิวน้ำได้ มีสายสำหรับล็อคแทงก์
ตีนกบ หรือ Fin : รองเท้าใช้เคลื่อนที่ได้สะดวก, รวดเร็วในน้ำ 
เข็มขัดตะกั่ว หรือ Weight Belt : ถ่วงน้ำหนักให้เราจมลงได้ในทะเล จะใส่ในเข็มขัดหรือชุด B.C.D.ก็ได้ (เราใส่ 4 ก้อน)
ชุดดำน้ำหรือ Wet Suite : ชุดสวมใส่กันหนาวและป้องกันอันตรายจากน้ำและสัตว์ในทะเล
------------------------------------------
การประกอบอุปกรณ์ Assembling S.C.U.B.A. 
(เอาไว้จำ กันลืม 555)

- เจอแทงก์ให้เช็คว่ามีสติกเกอร์ปิดอยู่หรือไม่ เอาออกซะ
- ตั้งแทงก์หันหน้าวาล์วเข้าหาตัว เช็คว่ามี O-Ring มั้ย?
- ใส่ B.C.D. เข้ากับแทงก์ด้วยสายรัดด้านหลังให้แน่น

ส่วนชิ้นสำคัญที่ข้อมูลเยอะสุดและควรจำให้ได้เป็น Regulator
ประกอบ First Stage เข้ากับวาล์วที่หัวแทงก์ หมุนเกลียวล็อคให้แบบพอขยับได้ (แน่นเกินจะถอดยาก)
- ตรวจให้ถูกว่าตำแหน่งของ Second Stage จะต้องอยู่ขวามือ / ท่อ Low Pressure Inflator จะต้องอยู่ซ้ายมือ   
        - ต่อสาย Low Pressure เข้ากับ Inflator ของ B.C.D. 
- เก็บสาย Octopus และสายคอนโซลต่างๆ ให้เรียบร้อย
ค่อยๆ เปิดวาล์ว(หมุนออกจากตัว) มืออีกข้างกดปุ่มไล่อากาศของ Second Stage ไว้ ช่วยยืดอายุการใช้งาน 
- ซักพักก็ปล่อยมือจาก Second Stage หมุนวาล์วเปิดจนสุดแล้วหมุนกลับเข้าหาตัว 1 รอบ

ตรวจสอบ
- ดูว่าความดันอากาศในปริมาณที่เพียงพอแก่การใช้งาน (ครั้งแรกต้อง 200 บาร์)  
- ลองหายใจเข้าออกผ่าน Second Stage ทั้ง Reg. หลักและ Octopus 2 3 ครั้ง 
- ลองกดปุ่ม Inflator เติมลมดูการทำงานว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติ 
- ทดลองปล่อยลมจาก Dump Valve ทุกจุดว่าทำงานได้ปกติ และไม่รั่วซึม
        
 เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว  วางอุปกรณ์ในที่ปลอดภัย ไม่ลื่นล้มหรือวางนอนราบกับพื้นเอาไว้เน้อ

ภาพจากพี่อิน
ประกอบเสร็จเรียบร้อย ได้เวลาแต่งองค์ทรงเครื่องให้ครบ พร้อมลงสระ ตู้มๆ!!
แต่ละ Skill ครูติ๊กจะสอนเหนือผิวน้ำและทำให้ดู พร้อมนักเรียนทำตามด้วยกันก่อน 
จากนั้นจะให้ลงไปทำใต้ผิวน้ำ พร้อมให้สัญญาณมือต่างๆ 

เริ่มต้นสอน Skill 
เมื่อน้ำเข้าหน้ากาก  มี 3 กรณี 1. ครึ่งหน้ากาก 2. เต็มหน้ากาก 3.ถอดออกแล้วใส่ใหม่
วิธีเคลียร์ Mask : หลับตา ใช้มือดันหน้ากากด้านล่างให้เปิดออกเล็กน้อย แล้วหายใจออกด้วยจมูกแรงๆ
(ระวังอย่าให้เส้นผมอยู่ในหน้ากาก เพราะน้ำจะเข้าได้ง่าย
และระวังตอนไม่หน้ากาก อย่าใช้จมูกหายใจเข้านะ เราหายใจเข้าปุ๊บ เจ็บหูเลย เคลียร์หูแทบไม่ทัน ><")

เมื่อ Second Stage หลุดออกจากปาก ตอนอยู่ใต้น้ำ 
วิธีหา Second Stage มีอยู่ 3 วิธี
1. เอียงตัวไปทางขวา ใช้มือขวากวาดไปที่ต้นขาขวา ปัดมือออกทางด้านข้าง แล้วกวาดมาด้านหน้า
2. ใช้มือขวาลูบไปด้านล่าง อ้อมไปด้านหลังจนถึงแทงก์แล้วกวาดมือไปด้านหลัง วกกลับมาข้างหน้า
3. ใช้มือขวายกขึ้นไปจับหัวแทงก์ที่ด้านหลัง แล้วไล่สายดึงกลับมาเข้าปาก
** เวลาปากไม่ได้คาบ Reg. อยู่ ต้องหายใจออกปล่อยฟองอากาศ (Bubble) ออกมาทางปากเล็กๆ ด้วยนะ **

เมื่อต้องการแชร์อากาศกับเพื่อนหรือฉุกเฉินต้องอาศัยอากาศคนอื่นหายใจ
วิธีแชร์ Octopus กับเพื่อน ให้เราว่ายไปหาเพื่อน ตบไหล่ให้เขารู้ว่าเรามีปัญหา 
ให้สัญญาณหายใจไม่ออก มืดคาดปาดคอ เพื่อนจะส่ง Octopus ให้
จากนั้นใช้มือจับข้อมือของฝ่ายตรงข้ามให้อยู่ใกล้ตัวเพราะสายจะสั้นกว่า จากนั้นทำสัญญาณมือ Ok ถาม
หากเพื่อนโอเคแล้ว ค่อยๆ เก็บสาย คอยดูเพื่อนจนกว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ 
หากเพื่อนไม่ไหวต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ ให้เราค่อยๆ พาเพื่อนขึ้นช้าๆ อย่างมีสติ
กรณีเร่งด่วนเราว่ายไปหาเพื่อนหยิบสายมาใช้หายใจได้เลยทันที แต่ต้องมีสติค่อยๆ ทำไม่ใช่รีบเร่ง เพื่อนอาจจะเข้าใจผิดได้นะ

กรณีเป็นตะคริว 
ตัวเราเอง - ยืดขาออกให้ตรง โน้มตัวลงมาจับปลายฟิน แล้วดึงเข้าหาตัวแรงๆ
หากเป็นบัดดี้หรือผู้ป่วย - ให้เข้าทางด้านซ้าย เพื่อไม่ให้โดนสาย Regulator 
จากนั้นจับปลายฟินของเพื่อน ดันเข้าหาตัวเพื่อน ใช้สัญลักษณ์มือสอบถามว่า Ok หรือยัง

กรณีหมดแรง ว่ายหาเรือไม่ไหว การช่วยเหลือมี 3 วิธี
1. ใช้มือดันปลายฟินทั้ง 2 ข้างของเพื่อนไป 
2. วางฟินทั้งสองข้างที่ไหล่เรา ใช้มือจับพยุงไว้ แล้วดันไปข้างหน้า
3. จับหัวแทงก์ด้านหลังของเพื่อนลากไป

ภาพจากพี่อิน
ถอดเข็มขัดตะกั่วใต้น้ำ
ใช้มือขวาจับสายที่อยู่หลังตัวล็อค แล้วเอามือปลดล็อด(ใช้มือเดียว)
วิธีนี้จะทำให้ตะกั่วไม่หลุดออกจากสาย แล้วต้องลงไปงมเก็บขึ้นมานั่นเอง

ใส่เข็มขัดตะกั่วใต้น้ำ
ยากชะมัดเลยอ่ะ ง่ายสุดของเราคือใช้มือขวาถือไว้ เอามือซ้ายไล่สายตรงก้นแล้วถือใส่
แต่วิธีที่ถูกก็คือ ถือในมือขวา นอนหงาย ปากคาบ Reg. แล้วพลิกคว่ำตัว ใส่ตัวล็อคเข็มขัดตะกั่วในน้ำขณะคว่ำตัว

การถอดเสื้อ
เหนือผิวน้ำ ปลดสายให้หลวม ปลดล่างขึ้นบน ถอดซ้ายก่อนขวา แล้วหมุนตัวขึ้นมากอดชุดกับถังไว้
ใต้น้ำ ปลดสายให้หลวม ถอดซ้ายก่อนขวา (ขวามี Reg. ใช้หายใจ เลยต้องถอดซ้ายก่อน กัน Reg. หลุดจากปาก)

การใส่เสื้อ
เหนือผิวน้ำ หมุนตัวกลับมาอยู่บนเสื้อ สอดแขนขวาก่อน ล็อคจากล่างขึ้นบน
ใต้น้ำ ปากคาบ Reg. หมุนตัวกลับมา ใส่แขนขวาก่อน ล็อคจากล่างขึ้นบน

** หน้ากากห้ามไว้ที่หน้าผาก ให้คล้องไว้ที่คออยู่เสมอเวลาอยู่เหนือผิวน้ำ กันคลื่นซัดหน้ากากหลุด **

ภาพจากพี่อิน
ก่อนลงน้ำทุกครั้ง ต้องทำการ Buddy Check 
ท่องไว้ก็ BWRAF
BCD - Weight Belt - Releases - Air - Final Check
ชุดเติมลมได้มั้ย สายต่อเรียบร้อยดีรึยัง / เข็มขัดตะกั่วใส่ยัง / สายต่างๆ แน่นมั้ย / ถังอากาศเปิดรึยัง 200 บาร์มั้ย / หน้ากาก ฟิน ครบมั้ย

หลังจากแต่งตัวเรียบร้อยแล้ว จะบอกว่าแบกถังแล้วหนักมาก แถมยังใส่ฟินด้วย เดินไม่เป็นเลยเด้อ 555
แนะนำว่าแต่งตัวให้เรียบร้อย แล้วเดินมายืนตรงที่จะลงน้ำ ค่อยใส่ฟิน

วิธีใส่ฟิน
เราเท้าเล็กมากกกกกก ต้องใส่ถุงเท้าถึงจะใส่ฟินได้พอดี
วิธีคือ ใช้มือจับไหล่ Buddy พับขาเข้าหาตัว แล้วค่อยๆ ใส่ฟิน อีกข้างก็สลับกันใส่

ภาพจากพี่อิน
การโดดลงน้ำ 
มีทั้งแบบยืนท้ายเรือแล้วโดด กับ นั่งขอบเรือโดดลงมา ถึงจะชื่อว่าการโดดลงน้ำ แต่เอาจริงๆ ห้าม! กระโดดนะ 55
เริ่มด้วยการเติมลมเข้า B.C.D. ให้เต็มก่อน เพื่อให้ตัวลอยน้ำ
วิธีคือ ใส่ Mask คาบ Reg. ใส่ฟินเรียบร้อย 
ใช้มือขวาจับ Reg. นิ้วชี้กับกลางวางไว้บน Mask แล้วมองตรงหรือเงยหน้านิดหน่อย
ใช้มือซ้ายจับ Weight Belt ตรงพุงนั่นแหละ 555
วางเท้าซ้ายไว้หมิ่นขอบ เท้าขวาวางข้างๆ เป็นตัว L วาดขาขวายาวๆ ไปข้างหน้าให้พ้นขอบเรือ ขาซ้ายจะพับขาลงไปเอง
ห้ามกระโดดเด็ดขาด!!!! เพราะถังอาจจะถ่วงไปด้านหลัง ทำให้เสียการทรงตัวและหัวอาจกระแทกเรือได้

เอาจริงๆ ยังทำไม่ได้เลย แง ผิดท่าแล้วกลัวหัวโขกขอบเรือที่สุดแล้วอ่ะ T^T

การขึ้นเรือ
ปากคาบ Reg. ไว้ ใช้มือจับบันไดเรือหลวมๆ ปล่อยให้ลอยขึ้น-ลงไปตามคลื่น
ถอดฟินใต้น้ำ โดยพับขาเป็นเลข 4 ส่งให้คนเรือ
จากนั้นไต่บันไดขึ้นเรือ ทั้งชุดนั่นแหละ คนเรือจะช่วยดึงตรงถังขึ้นมา
แต่ก็ต้องแบกกลับไปอยู่จุดของเรานั่นแหละ หนักกกกกก ><"

ภาพจากพี่อิน
หลังจากที่โดดลงไปในน้ำแล้ว จับหน้ากากและคาบ Reg. ไว้ ฟินไม่หลุด เข็มขัดตะกั่วยังอยู่
หากเรียบร้อยดีให้สัญลักษณ์โอเคกับเรือตามในภาพเลย 

ภาพจากพี่อิน
วันนี้ครูติ๊กให้ลงใต้น้ำที่ระดับลึก 3 เมตร

วิธีลงใต้น้ำ คือ ให้เราปล่อยลมออกจาก B.C.D. ให้หมด
ใช้ฟินพยุงตัวให้ลอยขึ้น ไม่ให้จมเร็วเกินไป
หูจะเริ่มอื้อ ให้เคลียร์หูด้วยการบีบจมูกให้แน่น หายใจออกทางจมูกให้ดัง"กึ้บ" 
ถ้าไม่เคลียร์หู เราจะเจ็บหูมากๆ ซึ่งนั่นไม่ดีกับการดำน้ำเลย อาจถึงขั้นอดดำน้ำเลยนะ

พอมาอยู่ข้างล่างก็เริ่มทดสอบสกิลที่สอนตอนอยู่น้ำตื้นจนครบ
ครูเริ่มสอนการลอยตัวให้ไม่ติดพื้นใต้น้ำ

วิธีการปรับสมดุลลอยตัวใต้น้ำ หรือ Buoyancy
ให้เราค่อยๆ นอนคว่ำลงไปกับพื้น จากนั้นเติมลมเข้า B.C.D. ประมาณ 2-3 ครั้ง 
ตัวเราจะค่อยๆ ลอยขึ้น ควบคุมด้วยการหายใจเข้า-ออกช้าๆ ย้ำ!!ช้าๆ เข้าไว

การลอย-จมจะดีเลย์ และยังยากอยู่สำหรับเรา 
วันแรกนี่เล่นเอาปวดหัวเพราะหายใจเข้าน้อยกว่าหายใจออก 555

พอเริ่มลอยตัวได้ ครูก็ให้ฝึกตีฟิน โดยการเกาะขอบสระข้างล่าง
ตอนแรกเตะแบบว่ายน้ำเลยจ้า เหนื่อยมากกก ต้านน้ำสุดๆ
พอครูค่อยๆ จับขา ฝึกตีฟิน ก็เข้าใจแล้วว่าใช้สะโพกเยอะกว่าขา แค่เราบิดสะโพก ยืดขาตรงๆ ก็ควบคุมทิศทางได้แล้ว :D

Hovering 
เป็นการลอยตัวนิ่งๆ อยู่กลางน้ำ วิธีก็คือให้เราตั้งตัวตรงแนวแกน Y
จากนั้นนั่งขัดสมาธิ ใช้มือทั้ง 2 ข้างจับปลายฟิน ควบคุมการหายใจเข้า-ออก 
เราบอกไม่ถูกเหมือนกันว่าต้องทำยังไงอ่ะ แต่ว่าท่านี้แอบยากสำหรับเรานะ
เพราะถังมันหนัก แค่เราโน้มตัวมาข้างหน้า หัวก็จะทิ่มแล้ว 555

Fin Pivot
ชอบอันนี้ คือเราได้เคลื่อนตัวไปในน้ำเรื่อยๆ 
วิธีก็คือลอยตัวให้เป็นกลาง ควบคุมการจม-ลอย ด้วยการหายใจเข้าออก
หายใจเข้าจะลอยขึ้น หายใจออกจะจมลง  (ควรจะฝึกกั๊กอากาศไม่ให้ออกหมด และกั๊กลมไว้ตอนหายใจเข้าบ้าง)
แล้วค่อยๆ ขยับขาไปมา มันจะเคลื่อนไปข้างหน้าเอง ตอนแรกๆ ก็แบบลอยสูงไป ต่ำไป ควบคุมยังไม่ดีพอ

การลอยตัวเป็นกลางในน้ำ ถือว่าเป็นทักษะที่เป็นหัวใจของการดำน้ำเลย เราคิดว่านะ
เพราะถ้าทำได้เราจะประหยัดอากาศได้เยอะ แล้วก็ไม่ทำให้เราไปทำลายทรัพยากรใต้ทะเล รวมถึงอันตรายที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ด้วย

ขึ้นสู่ผิวน้ำ
ค่อยๆ ตีฟินขึ้นสู่ด้านบน หายใจเข้าออกตลอด ห้ามกลั้นหายใจ
หากอยู่ลึกกว่า 5 เมตร ให้ทำ Safty Stop ที่ 5 เมตรก่อนถึงผิวน้ำ เป็นเวลา 3-5 นาที ค่อยขึ้นสู่ผิวน้ำ
เมื่ออยู่บนผิวน้ำ เติมลมเข้าชุด B.C.D. ให้เต็ม ตัวจะลอยอยู่บนน้ำง่ายขึ้นเอง

CESA : Controlled Emergency Swimming Ascent
ใช้ตอนที่อากาศเหลือน้อยหรือเกิดเหตุที่ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว แบบฉุกเฉิน
วิธีคือ ให้เตะฟินขึ้นไปเร็วหน่อย พุ่งขึ้นสู่ด้านบน เงยหน้าขึ้น หายใจออกตลอด
ร้อง "อ่าาาาาา" เบาๆ ให้อากาศในปอดได้มีที่ระบายออก 
พอหัวพ้นน้ำ รีบเป่าลมเข้าชุด B.C.D. 3-4 ครั้งแหน่ะ กว่าจะบวมจนลอยตัวได้ ลมน้อยเหลือเกิน TT

จะบอกว่าแค่ 3 เมตร ยังรู้สึกอึดอัดจะตายเลยอ่ะ ยิ่งตอนพ้นน้ำแล้วต้องเป่าลมเข้าชุดนี่แบบ...อ้ากกกก ไม่ไหวแล้วค่า
ขอไม่เกิดเหตุการณ์ที่ต้องทำ CESA ตอนไปดำน้ำจริงล่ะกันนะ ><"

ช่วงบ่ายฝนตก หลังจากทานข้าวเลยได้นั่งคุยกันกับครูและเพื่อนๆ ฝนตกน้ำเย็น พอหยุดก็ได้เวลาเรียนต่อ
ช่วงหลังเป็นสกิลของ Fin pivot ล้วนๆ เอาให้ไม่ขึ้นไม่ลง ขอแบบกลางๆ ว่ายสวยๆ 
แล้วก็ทำ CESA ที่ระดับ 3 เมตร เป็นอันเรียบร้อย

ปัญหาที่เราเจอ
1. ความรู้สึกแรกคือไนโตรเจน ทำให้คอแห้ง ปากแห้งสุดๆ ไปเลย
2. ตอนทำ Fin Pivot หายใจเข้าน้อยกว่าออก ตัวเลยลอยไม่เป็นกลาง
แถมยังทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เกิดอาการมึน ปวดหัวเลยทีเดียว
3. สาย Reg. กับชุด B.C.D. บาดมือและแขน น่าจะจังหวะไม่ดี อยู่ใต้น้ำไม่ค่อยรู้สึก พอขึ้นมามีรอยบาดแสบๆ อ่านะ
4. เป็นไข้ อันนี้แทบหยุดเรียน อยู่ๆ ก็มึนหัว อยากอาเจียน ต้องพักผ่อนเยอะๆ 

ห้าม! ลงน้ำตอนเป็นหวัด มีไข้ มีเสมหะ มีน้ำมูก หากจำเป็นต้องลง ให้ทานยาลดการคัดหลั่ง
ทางที่ดีควรเลี่ยงการดำน้ำลึกออกไป

หลังจากดำน้ำลึกแล้ว ต้องพักน้ำเป็นเวลา 24 ชม. และห้ามขึ้นเครื่องบิน
อ่อ...อีกอย่างที่ไม่ควรลงดำน้ำคือฟันผุ แล้วยังไม่ได้รับการรักษา เพราะใต้น้ำจะทำให้อากาศในโพรงฟันขยายตัว
เราจะรู้สึกเจ็บฟันได้มาก แบบทนไม่ได้ ทำให้ดำน้ำไม่ได้นั่นเอง

หลังจากอาบน้ำ แต่งตัวเสร็จเรียบร้อย เวลาก็ล่วงเลยมา 6 โมงกว่าซะแล้ว
พวกเราเริ่มเรียนทฤษฎีในวันนี้กันไป 2 บท กว่าจะเสร็จก็ปาไป 2 ทุ่มกว่า
ไว้พรุ่งนี้มาเก็บทุกบทให้ครบ แล้วสอบกันได้เลย ;)

วันแรกก็หมดแรง หมดสภาพไปเลยค่ะ น้ำหนักลดไปตั้งครึ่งกิโลแหน่ะเท๊อออ!!

-------------------------------------

วันที่ 2 ของการเรียนในสระ (ไม่มีรูปเลยอ่ะ TT)
เป็นการทบทวน Skill ต่างๆ ของวันแรก โดยวันที่ 2 นี้ เรามาเรียนกับครูใต้ เรียนแบบ 1 ต่อ 1 เลย :)
มาถึงก็ประกอบอุปกรณ์ ใส่ชุด / Buddy Check ให้เรียบร้อย แล้วก็ลงสระไปอยู่ที่ลึก 3 เมตรกัน
ครูจะสั่งให้เราทำ Skill ต่างๆ ใต้น้ำ แล้วเราก็ทำตามจนครบทุก Skill รวมๆ ก็ตั้งแต่ 8 โมงจนถึงบ่าย 2 

ในวันนี้เราได้ลองทำ Skill ใหม่แบบเหตุการณ์จริงอยู่ 1 อย่าง เป็น กรณีอากาศ Flow หรือ Reg. ปล่อยอากาศออกมารัวๆ 
มีโอกาสเกิดขึ้นได้เยอะอยู่นะ กรณีนี้ให้จัดการด้วยการจับมันคว่ำลงก็หมดปัญหา 
แต่ถ้ามันพังให้คาบ Reg. เอาไว้ครึ่งปาก แล้วหายใจเข้าออกปกติ แรงดันมันจะมีพื้นที่ว่างดันน้ำออกไปเหลือไว้ให้เราได้หายใจเข้าออกได้นั่นเอง
Case นี้ผ่านฉลุย :)

อีก 2 อย่างที่วันแรกไม่ได้ทำ คือการลองปล่อยลมออกของชุด B.C.D. กับล้างทำความสะอาดอุปกรณ์

วิธีการปล่อยลมออกของชุด B.C.D. ให้เอามือดึงสายปล่อยลม จะมีทั้งที่อยู่บนหลังทางด้านขวาและด้านล่างของชุด
หากอุปกรณ์มันเติมลมเข้าชุดเอง เราก็ต้องปล่อยลมออกด้วยการเพิ่งพาแบบ"อัตโนมือ"ของเราเองเนี่ยแหละ 555

ครูใต้ให้ ถอดล้างอุปกรณ์ ทั้งหมดเอง ขั้นตอนก็มีอยู่ว่า
ปิดวาล์วแทงก์ตั้งไว้ในที่มั่นคง - ถอดสายปลาหมึก ล้างด้วยน้ำเปล่า แล้วพับวนให้เป็นวงกลมวางพาดแทงก์ไว้ - 
ชุด B.C.D. ไล่ลมให้หมด นำไปล้างน้ำให้สะอาด เติมน้ำเข้าชุด เขย่าขึ้นคว่ำลง เพื่อให้น้ำล้างข้างใน จากนั้นไล่น้ำออกให้หมด - หน้ากาก/ท่อหายใจ ล้างน้ำให้สะอาด
(พอล้างทุกอย่างให้สะอาด แล้วต้องนำไปตากในที่ร่มให้แห้งก่อนเก็บทุกครั้ง)

อ่อ...วันนี้ครูสอน Free Dive ให้ด้วยล่ะ 
รู้สึกสนุกและคล่องตัวกว่ามากๆ อันนี้ต้องคนว่ายน้ำเป็นนะ เพราะต้องใช้วิธีการกลั้นหายใจใต้น้ำ
ครูบอกว่าวิธีนี้เป็นการหลอกสมอง ซึ่งไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็เป็นที่นิมยมากๆ ในปัจจุบัน

จากนั้นก็มาเรียนภาคทฤษฎีที่เหลือให้จบ มีชวนครูคุยด้วยเลยแอบเลยเวลา 555
มาถึงการสอบก็เป็นข้อสอบ ก-จ เนื้อหาชัดเจนดีนะ เราว่าถ้าตั้งใจเรียนปฏิบัติ จำได้ ทำครบ ก็ทำข้อสอบได้สบายๆ เลย
ส่วนภาคทฤษฎี ถ้าตอนเรียนเข้าใจแบบภาพรวม ข้อสอบก็จะตัดข้อไม่ถูกออกไปได้เยอะ
เอาจริงๆ เราว่าทำข้อสอบ อย่าคิดเยอะ 555

ภาพจากพี่อิน
ทั้งหมดทั้งมวนที่เขียนเล่ามาใน Blog นี้ ก็นั่นแหละค่ะทุกคน
เป็นประสบการณ์ในการเรียนดำน้ำลึก ระดับ Open Water ภาค Basic Skill ที่ใช้สระเป็นที่เรียนรู้
ต้องขอบคุณครูติ๊ก พี่อิน ครูใต้ ครูก้อยและเพื่อนๆ มากๆ เลย

สำหรับสอบภาคปฏิบัติในทะเล เราจะไปสอบกันที่แสมสาร แล้วจะเล่าให้อ่านกันอย่างละเอียดเลย ท่าทางจะน่าสนุกกว่าในสระมากแน่ๆ 
หวังว่า Blog : Basic Skill กับการเรียนดำน้ำลึก ภาคสระ #PorpoyzScuba นี้จะเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจเริ่มต้นเรียนดำน้ำลึกกันน้า ^^

คนว่ายน้ำไม่เป็นก็เรียนได้ ขอแค่มีความตั้งใจและพร้อมจะเรียนรู้ก็สามารถมาเรียนได้
เราบอกได้เลยว่าที่นี่ครูสอน 1 คนต่อเด็ก 4 คน ใจดี สอนละเอียด ดูแลใกล้ชิดและใส่ใจนักเรียนมากๆ 

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันน้า ภาคสอบในทะเล อย่าลืมติดตามอ่านกันด้วยน้า
บ๊ายบาย :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น